ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงผู้บริหารตำแหน่งครูใหญ่ ตามลำดับดังนี้ คือ นายวิชิต เชาวลิต นายปราบ วัฒนสิทธิ์ นายจำปา ไทยสุชาติ
พ.ศ. ๒๔๙๗ นายรวย ประชุม เป็นครูใหญ่ มีครูประจำชั้นสอน ๕ คน นักเรียน ๑๔๕ คน จนกระทั้ง พ.ศ.๒๕๐๕ มีนักเรียนเพิ่มขึ้น พระอธิการผอมเห็นว่าสถานที่คับแคบ จึงมอบโรงธรรมศาลาหลังใหม่ให้ใช้เป็นสถานที่เล่าเรียน
พ.ศ.๒๕๑๖ โรงเรียนได้รับอนุญาตจากทางราชการ ให้เปิดทำการสอนถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ( ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ) แบบไม่บังคับเรียน มีนักเรียนชั้น ป. ๕ จำนวน ๔๔ คน ทางราชการได้แต่งตั้ง นายเลียบ วัฒนสิทธิ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนายรวย ประชุม มีครูในขณะนั้นจำนวน ๙ คน
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้แต่งตั้งนายจำรูญ สุพรรณพงศ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ มีนักเรียน ๕๑๕ คน ครู ๑๒ คน
พ.ศ.๒๕๒๒ นายจำรูญ สุพรรณพงศ์ ลาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางราชการได้แต่งตั้งนายฉลอง สุคนธมาศ รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ มีอัตราลูกจ้าง ตำแหน่งนักการภารโรง ๑ อัตรา คือนายบุญริ่น คิดโปร่ง ในปีการศึกษานี้มีครู ๑๖ คน
พ.ศ.๒๕๒๔ ได้กำหนดตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนเป็นอาจารย์ใหญ่ได้แก่ นายจำรูญ สุพรรณพงศ์
พ.ศ.๒๕๓๔ ทางราชการอนุญาตให้โรงเรียนวัดดอนใครเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนชั้น ม. ๑ ปีแรกจำนวน ๕๙ คน
พ.ศ.๒๕๓๖ ทางราชการได้แต่งตั้งนายภักดี สามารถ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในปีการศึกษานี้ มีนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เป็นรุ่นแรก จำนวน ๕๙ คน มีครูทั้งหมด ๒๒ คน
พ.ศ.๒๕๓๗ ทางราชการได้แต่งตั้งนายภักดี สามารถ ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดนากุนและได้แต่งตั้งนายสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดเขาพนมไตรรัตน์ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทน ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๗
พ.ศ. ๒๕๓๙ โรงเรียนได้รับอนุมัติตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนจากอาจารย์ใหญ่ เป็นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีนายสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ มีครูทั้งหมด ๒๘ คน และในปีนี้ โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องปฏิรูปการศึกษา ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับจังหวัด ให้เป็นตัวแทนของจังหวัดเข้ารับการคักเลือกโรงเรียนพระราชทานในระดับเขตการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๔๐ ในปีนี้มีนักเรียน จำนวน ๔๒๓ คน ครู ๒๓ คน โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดเข้ารับการคัดเลือกโรงเรียนพระราชทานในระดับเขตอีกครั้งหนึ่ง ในปีนี้โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนดีเด่นในระดับอำเภอ เป็นโรงเรียนจัดกิจกรรมแนะแนวดีเด่นระดับอำเภอ
พ.ศ. ๒๕๔๑ ปีนี้โรงเรียนมีนักเรียนทั้งสิ้น ๔๑๘ คน ครู ๒๒ คน โรงเรียนโดยคณะกรรมการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียน ได้ร่วมกันจัดหาเงินเพื่อซื้อที่ดินให้โรงเรียนทางด้านทิศใต้ของโรงเรียน ซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินเดิมของโรงเรียน จำนวน ๑ แปลง พื้นที่ ๘ ไร่เศษ ในราคา ๑๗๐,๐๐๐ บาท ( หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้น ๓๓๐,๐๐๐ บาท ( สามแสนสามหมื่นบาทถ้วน) นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งแต่เดิมเป็นศาลาโรงธรรม โดยใช้เงินปรับปรุงทั้งหมด ๘๓,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๔๒ มีจำนวนนักเรียน ๓๘๕ คน เป็นระดับก่อนประถม ๓๖ คน ประถมศึกษา ๒๔๔ คน มัธยมศึกษา ๑๐๕ คน มีครู ๒๐ คน นักการ ๑ คน ในเดือนตุลาคม ปีนี้มีข้าราชการครูขอลาออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต จำนวน ๑ คน คือนายกระจาย สมศักดิ์ และย้ายตัดโอนอีก ๒ คน เหลือครูในปีการศึกษานี้ ๑๘ คน และในปีนี้ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๑ โรงเรียนจึงต้องมีการเตรียมการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว เพื่อปฏิรูปการศึกษาต่อไป
พ.ศ.๒๕๔๓ มีนักเรียน ๓๗๓ คน คณะครู ๑๘ คนได้รับงบประมาณในการสร้างบ่อปลาประมงโรงเรียน จำนวน ๑ บ่อ สร้างในที่ดินด้านหลังโรงเรียน
พ.ศ. ๒๕๔๔ มีนักเรียน ๓๓๗ คน ครู ๑๘ คน โรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการขุดบ่อปลา ๕๐,๐๐๐ บาท ถังน้ำสแตนเลส ๖,๕๐๐ บาท และ ครุภัณฑ์ห้องสมุด ๒๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๔๕ มีนักเรียน ๓๒๒ คน ครู ๑๗ คน ในปีนี้ คณะกรรมการสถานศึกษา ศิษย์เก่า ผู้ปกครองนักเรียน และคณะครู ได้จัดทอดผ้าป่าหารายได้สนับสนุนการศึกษา ได้รับเงิน จำนวน สองแสนแปดหมื่นบาทเศษ ได้จัดซื้อคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน จำนวน ๑๓ เครื่อง
พ.ศ. ๒๕๔๖ มีนักเรียน ๓๑๘ คน ครู ๑๗ คน ปีการศึกษา ๒๕๔๖ โรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๔ ตาม พ.ร.บ. การศึกษา ๒๕๔๒ และเริ่มจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
พ.ศ. ๒๕๔๗ มีนักเรียน ๓๒๔ คน ครู ๑๘ คน ปีการศึกษา ๒๕๔๗ โรงเรียนได้ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๔ ตาม พ.ร.บ. การศึกษา ๒๕๔๒ และได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา ในชั้นอนุบาล ๑-๒ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑,๒,๔ และ ๕ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๒
พ.ศ. ๒๕๔๘ มีนักเรียน ๓๑๗ คน ครู ๑๖ คน ผู้บริหาร ๑ คน
พ.ศ. ๒๕๔๙ ทางราชการได้ย้ายนายสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนท่าศาลา และได้ย้ายนายบุญโชค สุดคิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนาเหรงมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทนซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ มีนักเรียน ๓๐๕ คน มีครู
๑๖ คน
พ.ศ. ๒๕๕๐ มีนักเรียน ๒๘๘ คน ครู ๑๗ คน โรงเรียนได้จัดการศึกษาตาม พรบ.การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๒ และได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาในชั้นอนุบาล ๑-๒ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓
พ.ศ. ๒๕๕๑ ทางราชการได้ย้ายนายบุญโชค สุดคิด ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสำนักม่วงและได้ย้ายนางสาวอาภรณ์ เมฆฉาย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจันทาราม มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทน ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑
พ.ศ. ๒๕๕๒ มีนักเรียน ๒๒๗ คน ครู ๑๖ คน ผู้บริหารโรงเรียน ๑ คน โรงเรียนได้จัดการศึกษาตาม พรบ.การศึกษา ๒๕๔๒ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีครูย้ายออกจำนวน ๒ คนได้แก่นายบุญฤทธิ์ ศรีรักษ์ และนางสุกัญญา สุวรรณรัตน์
พ.ศ. ๒๕๕๓ ทางราชการได้มีคำสั่งย้ายนางสาวอาภรณ์ เมฆฉายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปลักปลาและได้มีคำสั่งย้ายนายนิรัตน์ ขับกล่อมส่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปลักปลา มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทน ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ มีนักเรียน ๑๙๖ คนครู ๑๓ คน ในปีนี้มีครูขอลาออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต จำนวน ๑ คนได้แก่นายเกรียงเดช รัตนบุรี และนายบุญริ่น คิดโปร่ง นักการภารโรงได้เกษียณอายุราชการ
พ.ศ. ๒๕๕๔ นายโกวิทย์ สุวรรณชาตรี ได้ย้ายมาช่วยราชการในต้นปีการศึกษาและมีคำสั่งย้ายมาปฏิบัติงานในปลายปีการศึกษา รวมมีครู ๑๔ คน ผู้บริหาร ๑ คน นักเรียน ๑๗๑ คน
พ.ศ. ๒๕๕๕ ทางราชการได้บรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยคือนางสุชานรี ฉิมเรืองมาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๕ รวมมีครู ๑๕ คน ผู้บริหาร ๑ คน นักเรียน ๑๔๗ คน วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๔ มีคำสั่งที่ ๒๙๙/๒๕๕๕ ย้ายนายนิรัตน์ ขับกล่อมส่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนใครไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนากุนและย้ายนายสุภาพ ผิวเหมาะผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนากุนมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนใครแทน วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕ ชมรมบิ๊กไบค์สุราษฎร์ธานี ได้นำคณะมามอบรถจักรยานให้นักเรียนยืมใช้จำนวน ๘๐ คันวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ทางราชการมีคำสั่งย้ายนางนฤมล วสีวิวัฒน์ ไปดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนวัดศิลาชลเขต
พ.ศ. 2556 มีนักเรียน 155 คน ครู 15 คน โรงเรียนได้จัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 โดยเน้นหลักปรัชญาเศรษฐิจพอเพียงโดยเฉพาะวิชาเพิ่มเติม เน้นงานเกษตรในชุมชน ได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์พัฒนาครอบครัวจังหวัดกระบี่ ปรับปรุงแปลงเกษตรและเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 120 ตัว เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน ในปีนี้ได้ส่งกิจกรรมรายได้จากที่ดินของสถานศึกษาเข้าประกวดได้รางวัลชมเชยจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ. 2257 มีนักเรียน 147 คน ครู 15 คน จ้างนักการภารโรง 1 คน มีการสอนในวิชาเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอบ O-Net ได้ลำดับที่ 11 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ลำดับที่ 3 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ร่วมกิจกรรมพัฒนาดินกับ สสค. ได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ
ประวัติโรงเรียนวัดดอนใคร
โรงเรียนวัดดอนใคร ได้เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๒ โดยพระอธิการผอม เปสโล เจ้าอาวาสวัดดอนใคร เป็นผู้ริเริ่มชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันสร้างโต๊ะ เก้าอี้และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆเป็นครั้งแรก มีนักเรียนประมาณ ๕๐ คน มีนายลภ ดำรักษ์ ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอท่าศาลาในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด มีครูประจำการครั้งแรก ๒ คน คือ นายเจือ ชาญณรงค์ เป็นครูใหญ่ และชุ่ม ทวีเมือง เป็นครูผู้สอน ใช้ศาลาโรงธรรมของวัดเป็นสถานที่เรียน
